วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ผาแต้ม
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย เช่น ผาชัน น้ำตกสร้อยสวรรค์ เสาเฉลียง ถ้ำปาฏิหารย์ ภูนาทาม เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกในประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทย และประเทศลาวเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุด ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ป่าเขา ทางฝั่งประเทศลาวได้เป็นอย่างดี
ประวัติความเป็นมา
ในอดีต ชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป อาจเจ็บไข้หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ” พื้นที่ป่าภูผาบริเวณผาแต้มได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มาทำการสำรวจและค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2524 เสนอต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกองอุทยานแห่งชาติได้ให้ นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดงหินกอง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ) ไปทำการสำรวจหา ข้อมูลเพิ่มเติม ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณที่ขอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าภูผา ปรากฏภาพเขียนสีโบราณซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม สภาพป่าบริเวณใกล้เคียงยังไม่ถูกทำลาย และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามการคมนาคมสะดวก เหมาะที่จะตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเห็นสมควรผนวก บริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดงหินกอง กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1162/2524 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2524 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ (ดงหินกอง)ไปดำเนินการควบคุมดูแลรักษาป่าภูผา โดยให้พิจารณาผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โดยได้ประกาศรวมกับบริเวณป่าใกล้เคียงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 153 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 ต่อมา กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วนและอยู่ห่างไกลกับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตลอดจนมีอาณาเขตกว้างขวางเกรงว่า อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จะดูแลไม่ทั่วถึง และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตามโครงการอีสานเขียว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 991/2532 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2532 ให้นายวรพล รันตสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดง ภูโหล่น ท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 90-92 เล่ม 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2534 มีเนื้อที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น