วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แกงเขียวหวานไก่


สูตรอาหารไทย : แกงเขียวหวานไก่
[ GREEN CURRY WITH CHICKEN ]
เครื่องปรุง + ส่วนผสม


* น้ำพริกแกงเขียวหวาน 1/4 ถ้วยตวง
* เนื้อไก่ 350 กรัม (หั่นเป็นชิ้นเล็ก พอดีคำ)
* กะทิ 1 1/4 ถ้วยตวง
* ใบโหระพา 1/4 ถ้วยตวง
* มะเขือเปราะ 2 ลูก (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
* น้ำุซุปไก่ 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ (หรือน้ำตาลทรายธรรมดา)
* น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
* พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด (หั่นเฉียง)
* ใบมะกรูด 4 ใบ
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ตั้งกะทิ 1/2 ถ้วยตวง (กระทิส่วนที่เหลือไว้ค่อยใช้ในขั้นตอนต่อไป) บนกระทะจนร้อน (ใช้ไฟปานกลาง) คนจนกระทิเดือดประมาณ 3 - 5 นาที จากนั้นใส่เครื่องแกงเขียวหวานลงไปผัดกับกระทิสักพักจนน้ำกระทิงวดลง จึงเทส่วนผสมทั้งหมดลงในหม้อใหญ่
2. นำหม้อใบใหญ่ตั้งไฟปานกลาง ใส่เนื้อไก่และคนประมาณ 2 นาที จากนั้นใส่น้ำปลา, น้ำตาล คนต่อไปอีก 1 นาที ใส่มะเขือเปราะที่หั่นไว้แล้ว ใส่น้ำกระทิที่เหลือและใส่น้ำซุปไก่ ต้มต่อไปสักพักจนเนื้อไก่เริ่มสุก และมะเขือเปราะนิ่ม
3. ใส่ใบมะกรูดและใบโหระพา รอจนเดือด จากนั้นจึงปิดไฟ ตักใส่ถ้วยเสิรฟพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ และพริกน้ำปลา
หมายเหตุ : แกงเขียวหวานนอกจากจะนิยมรับประทานกับข้าวสวยแล้ว ยังนิยมทานกับขนมจีนอีกด้วย . . .
(สำหรับ 2 ท่

สูตรอาหารไทย : ปลาราดพริก


สูตรอาหารไทย : ปลาราดพริก
[ FRIED FISH WITH TAMARIND SAUCE ]
เครื่องปรุง + ส่วนผสม

* ปลา 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 400-500 กรัม
(ล้างทำความสะอาดและขอดเกล็ด)
* น้ำมะขาม 1 ช้อนโต๊ะ
* น้ำตาล 3 ช้อนโต๊ะ
* หอมแดงหั่นหยาบ 1 หัว
* กระเทียมหั่นหยาบ 2 กลีบ
* ผักชี (เด็ดเอาแต่ใบ ไว้แต่งหน้าอาหาร)
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
* พริกชี้ฟ้าหั่นหยาบ (สีแดงหรือเหลือง) 3 เม็ด

วิธีทำทีละขั้นตอน
ปลาทอด:
1. บั้งข้างตัวปลาทั้งสองข้าง เพื่อให้เวลาทอดเนื้อปลาสุกได้ง่ายและสุกทั่วทั้งตัว
2. ใส่น้ำมัน (ประมาณ 1/2 ถ้วยตวงหรือพอท่วมตัวปลา) ในกระทะและนำไปตั้งไฟอ่อน ทอดปลาให้สุกทีละข้าง (หนึ่งข้างใช้เวลาประมาณ 10 นาที) ระหว่างทอดอย่ากลับหน้าปลาจนกว่าข้างหนึ่งข้างใดจะสุก เพราะจะทำให้เนื้อปลาเละไม่น่าทาน
3. เมื่อข้างหนึ่งสุกจึงกลับหน้าไปอีกข้าง โดยเวลาในการทอดอีกข้างให้สุกจะไม่นานเท่าข้างแรก (ใช้เวลาประมาณ 5 นาที) เมื่อปลาสุกดีแล้วให้นำออกมาวางบนกระดาษซับมัน แล้วจึงนำไปจัดใส่จานไว้
เคล็ดลับ : เพื่อให้ได้ปลาที่กรอบขึ้น ให้นำปลาที่ทอดแล้วไปอบในเตาอบที่อุณหภูมิประมาณ 350 องศาฟาเรนไฮต์ (~175 องศาเซลเซียส) ประมาณ 10 นาที
น้ำราดปลา :
1. ใส่น้ำมันประมาณ 1 ช้อนโต๊ะในกระทะ นำไปตั้งไฟอ่อนๆ จากนั้นใส่พริก, หอมแดง และกระเทียมลงไป ผัดให้เข้ากัน
2. ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม, น้ำปลา, น้ำตาล และน้ำเปล่าประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ คนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเดือด ถ้าน้ำราดข้นเกินไป สามารถเิติมน้ำเปล่าลงไปเพิ่มได้อีกนิดหน่อย รสชาิิติของน้ำราดควรจะมีรสหวาน, เผ็ดและเปรี้ยวพอๆกัน
3. เมื่อเตรียมน้ำราดเสร็จแล้ว จึงนำไปราดหน้าปลาที่ทอดไว้แล้ว แต่งหน้าด้วยผักชี เสิรฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตาย (อังกฤษ: Suicide) คือการกระทำที่ทำให้ตนเองเสียชีวิตโดยเจตนา สำหรับมนุษย์อาจเกิดมาจากภาวะความเสียใจอย่างมาก เช่นสูญเสียคนรัก หรือภาวะความเครียดที่ไม่สามารถหาทางออกได้ จึงคิดสั้นโดยการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา การฆ่าตัวตายของมนุษย์ถือเป็นปัญหาสังคม
จากประวัติศาสตร์ในอดีต การฆ่าตัวตายเป็นค่านิยมที่ได้รับการยอมรับมาก่อน เช่น ในสมัยซามูไรของญี่ปุ่น การรักษาศักดิ์ศรีด้วยการฆ่าตัวตาย (เช่น การทำเซ็ปปุกุ) ถือว่าดีกว่าอยู่อย่างไร้ค่า ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้ใช้กลยุทธ์ กามิกาเซ่ โดยใช้เครื่องบินบรรทุกระเบิดพุ่งเข้าชนเรือรบแบบฆ่าตัวตาย เป็นกลยุทธ์หนึ่งของสงครามมาแล้ว นอกจากนี้ในบางครั้งกลุ่มก่อการร้ายก็จงใจใช้การโจมตีแบบพลีชีพหรือฆ่าตัวตายในรูปแบบต่าง ๆ เช่นกัน เช่น ระเบิดพลีชีพ หรือการขับยานพาหนะพุ่งชนเป้าหมายแบบฆ่าตัวตาย เป็นต้น
นอกจากมนุษย์แล้วนักชีววิทยาพยายามศึกษา พฤติกรรมการฆ่าตัวตายในสัตว์ ในบางกรณีสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงไว้ มักมีความรู้สึกที่ผูกพันอย่างมาก เมื่อเจ้าของเสียชีวิตไป มันก็ปฏิเสธที่จะกินอาหาร แล้วหิวตายตามเจ้านายมันไป ยังมีกรณีของสุนัขที่เติบโตมาด้วยกัน เจ้าของเลี้ยงเลี้ยงสุนัข 2 สายพันธุ์ไว้ด้วยกัน มันเติบโตและวิ่งเล่นมาด้วยกันตลอด วันหนึ่งสุนัขตัวหนึ่งตายลงอย่างกระทันหันเนื่องจากถูกรถชน เจ้าของจึงฝังไว้ที่สวน สุนัขอีกตัวที่เหลือก็เปลี่ยนพฤติกรรมทันที จากที่เคยร่าเริงมันกลับปฏิเสธอาหาร และคอยเฝ้าอยู่บริเวณที่เจ้านาย ฝังสุนัขอีกตัวไว้ พอตกกลางคืนก็จะหอนตลอดเวลา ไม่กี่วันต่อมาสุนัขอีกตัวก็ตายลง
แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ปักใจเชื่อนัก เพราะสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อยู่รอดมาได้ในโลก และสัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องดิ้นรน เพื่อเอาตัวรอดอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่ในกรณีของสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีภัยคุกคามชีวิตด้านอื่น และกินดีอยู่ดีทุกวัน อาจพัฒนาความรู้สึกให้มีระดับที่สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับมนุษย์ เมื่อเกิดความเสียใจอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในสัตว์ได้

น้ำท่วม


นิยามของอุทกภัย หมายถึง อันตรายจากน้ำท่วม เกิดจากระดับน้ำในทะเล มหาสมุทร และแม่น้ำสูงมาก จนท่วมท้นล้นฝั่งและตลิ่ง ไหลท่วมบ้านเรือน ด้วยความรุนแรงของกระแสน้ำ ทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีเราจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า มีอุทกภัยเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนถูกทำลาย พาหนะต่าง ๆ เช่น รถยนต์จมอยู่ในน้ำจะพาโคลนตมเข้าไปทับถมในอาคารบ้านเรือน โรงงาน สูงเป็นสิบ ๆ เซนติเมตร จึงทำให้สิ่งของเสียหาย ในชนบททำให้พืชผล ไร่นา สัตว์เลี้ยงเสียหาย ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก ก่อให้เกิดโรคระบาด เกิดทุพภิกขภัยตามมา
สาเหตุของอุทกภัย 1. พายุหมุนโซนร้อน (Tropical Cyclones) หมายรวมถึงหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีกำลังแรง พายุดีเปรสชันที่จะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น ตามลำดับ ความเสียหายที่เกิดจากพายุมาจากสาเหตุใหญ่ 3 ประการ คือ ก. ลมพัดแรง (violent winds) ข. น้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักมาก (flood due to heavy rainfall) ค. คลื่นพายุวัดฝั่ง (storm surge) สำหรับพายุหมุนเขตร้อน หรือพายุไต้ฝุ่นที่พัดอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มักก่อตัวอยู่ในน่านน้ำทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ และเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น ราวเดือนกรกฎาคม เข้าสู่ประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ราวเดือนสิงหาคม เข้าสู่ฝั่งเวียดนามหรือเข้าสู่อ่าวตั่งเกี๋ย บางครั้งสามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนได้ในเดือนกันยายน แต่มักจะลดกำลังลมลงกลายเป็นดีเปรสชั่น เนื่องจากถูกภูเขาสูงในเวียดนามขวางทางลม จากสถิติเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่พายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบ่อยที่สุด คือ 40 ลูก ในเวลา 38 ปี (พ.ศ. 2494-2531) (สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2533:30) ในอ่าวเบงกอลช่วงต้นเดือนพฤษภาคมก่อนเข้าฤดูฝน พายุมักก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอล และเคลื่อนที่ทางเหนือเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ หรือเป็นประเทศพม่า ทำให้มีผลกระทบต่อประเทศไทยทางด้านตะวันตก ลักษณะของฝนตกที่ตก เนื่องจากพายุหมุนเขตร้อน จะเป็นฝนตกที่หนักและมีบริเวณกว้างขวางกับมีพายุลมแรงด้วย 2. ร่องมรสุม (intertropical convergence zone) ใช้ตัวย่อ ICZ หรือ ITCZ , equaltorial trough หรือ monsoon trough) มีลักษณะเป็นแนวพาดขวางทิศตะวันตก-ตะวันออก ในเขตร้อนใกล้ ๆ อิเควเตอร์ ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นลงและพาดผ่านประเทศไทยช้ากว่าแนวโคจรของดวงอาทิตย์ประมาณ 1 เดือน ความกว้างของร่องมรสุมประมาณ 6-8 องศาละติจูด
ร่องมรสุมจะเริ่มพาดผ่านประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม โดยร่องมรสุมกำลังอ่อนจะพาดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย และเลื่อนขึ้นไปเป็นลำดับประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีนทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง และจะเลื่อนกลับมาพาดผ่านภาคเหนือของประเทศไทยอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน และเลื่อนลงไปทางอิเควเตอร์ ตามลำดับ ในช่วงที่เลื่อนกลับมานี้ร่องมรสุมจะมีกำลังแรงกว่าในระยะแรก บริเวณร่องมรสุมจะมีเมฆมากและมีฝนตกหนักอย่างหนาแน่น ฝนที่ตกจะมีลักษณะตกชุกเป็นครั้งแรก (ตก ๆ หยุด ๆ วันละหลายครั้ง) แต่ตกไม่หนัก 3. ลมมรสุมมีกำลังแรง (stong monsoon) มรสุม คือลมประจำฤดู มาจากคำว่า mausim ในภาษาอาหรับ แปลว่า ฤดู ลมมรสุมเกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดิน และพื้นน้ำในฤดูหนาวและฤดูร้อน ในฤดูหนาวอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นทวีปเย็นกว่าอากาศเหนือพื้นที่มหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงกว่า และลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศเหนือทวีปซึ่งเย็นกว่าจึงไหลไปแทนที่ ทำให้เกิดลมพัดออกจากทวีป พอถึงฤดูร้อนอุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปสูงกว่าน้ำในมหาสมุทร เป็นเหตุให้เกิดลมพัดไปในทิศทางตรงกันข้าม (ราชบัณฑิตยสถาน, 2516: 238) ลมมรสุมที่มีกำลังแรงจัด ได้แก่ มรสุมที่เกิดบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย อันเป็นบริเวณที่ตั้งของประเทศเวียดนาม กัมพูชาประชาธิปไตย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย มาเลเซีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน และอินเดีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุม ประเทศไทยจึงอยู่ในอิทธิพลของมรสุม 2 ฤดู คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดประมาณฤดูกาลละ 6 เดือน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Monsoon)
มรสุมนี้ก่อให้เกิดอุทกภัยได้ เนื่องมาจากเมื่อพัดจากมหาสมุทรอินเดียปะทะขอบฝั่งตะวันตกของภาคใต้ และเมื่อผ่านอ่าวไทยแล้วจะปะทะขอบฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย มรสุมนี้เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดลงตอนต้นเดือนตุลาคม
ในระยะเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงจัด ความเร็วของลมอาจจะสูงถึง 30 น๊อต เป็นระยะเวลาหลาย ๆ วัน คลื่นทางฝั่งตะวันตกของภาคใต้ใหญ่มาก เนื่องจากลมแรงจัดประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย มีช่วงระยะที่ลมเคลื่อนที่ไกลมาก คลื่นและลมจึงพัดพาน้ำทะเลในอ่าวเบงกอลมาสะสมทางขอบฝั่งตะวันตกของภาคใต้ตลอดฝั่ง ทำให้ระดับน้ำในทะเลตามขอบฝั่งสูงขึ้นมากจากระดับน้ำทะเลปานกลางในฤดูนี้และในระยะเดียวกัน ถ้าเกิดพายุดีเปรสชันขึ้นในอ่าวเบงกอลทางฝั่งตะวันตกของภาคใต้ ผลอันเกิดจากความกดอากาศต่ำในบริเวณพายุและผลอันเกิดจากฝนที่ตกหนักบนภูเขาและชายฝั่งรวมเข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้เกิดระดับน้ำในทะเลและแม่น้ำสูงจนเป็นน้ำท่วมและเกิดอันตรายได้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast monsoon) เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งต้นพัดจากประเทศจีนและไซบีเรียผ่านทะเลจีนใต้ปะทะขอบฝั่งเวียดนาม ส่วนที่หลุดจากปลายแหลมอินโดจีนจะพัดผ่านอ่าวไทยตอนใต้ปะทะขอบฝั่งตะวันออกของภาคใต้ หรือฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยตั้งแต่ใต้สงขลาลงไป มรสุมนี้มีกำลังแรงจัดเป็นคราว ๆ เมื่อบริเวณความกดอากาศสูงในประเทศจีนมีกำลังแรงขึ้น ลมในทะเลจีนใต้มีความเร็วถึง 30-35 น๊อต ( 52 กม. ถึง 64 กม.) แต่เนื่องด้วยมรสุมนี้ปะทะขอบฝั่งเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ลมมรสุมที่พัดผ่านเข้ามาในอ่าวนั้น มีช่วงระยะที่ลมเคลื่อนที่ไม่ได้ไกล จึงไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากเป็นแต่เพียงคลื่นค่อนข้างใหญ่และระดับน้ำสูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่สูงมากนัก ลมที่พัดแหลมญวนและทางใต้ลงไปจะทำให้เกิดผลทางขอบชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่ใต้สงขลาลงไปได้มากเช่นเดียวกัน คือ ทำให้เกิดคลื่นใหญ่มาก และระดับน้ำสูงจากปกติมากจนอาจจะเกิดเป็นน้ำท่วมได้ ปรากฎการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวันที่ 5-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ในระยะนั้นเป็นระยะที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแรงจัด ระดับน้ำได้สูงขึ้นจนท่วมบ้านเรือนเสียหายมาก (สนิธ เวสารัชชนันท์, 2508: 3-7) 4. พายุฟ้าคะนอง พายุฝนหรือฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง ทำให้มีฝนตกหนักตอเนื่องกันนาน ๆ มีปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบริเวณที่ราบเชิงเขา ใกล้ต้นน้ำลำธารในฤดูร้อนและฤดูฝน เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักในป่าบนภูเขา น้ำฝนที่มีปริมาณมากที่ตกในป่าและบนภูเขาไหลอย่างรุนแรงลงสู่ที่ราบเชิงเขา ทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ น้ำป่าและน้ำจากภูเขาที่ไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดน้ำท่วมในระยะเวลากะทันหัน หลังจากฝนตกหนักในชั่วระยะเวลาสั้นเช่นนี้ เรียกว่า น้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) แต่ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หรือมากกว่าเพียงเล็กน้อย เมื่อน้ำได้ไหลลงสู่แหล่งน้ำลำธารเป็นส่วนมากแล้ว ระดับน้ำก็จะเริ่มลดลงโดยรวดเร็ว ในประเทศไทยจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับเทือกเขาสูง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เคยมีปรากฎการณ์เช่นนี้อยู่เสมอด้วยคลื่นน้ำขนาดใหญ่เคลื่อนที่มาอย่างรวดเร็วมาก โอกาสจะหลบหนีจึงมีน้อย นอกเสียจากจะได้วางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเรียบร้อยแล้ว 5. น้ำทะเลหนุน (high tide) ในระยะเวลาของภาวะน้ำเกิด คือ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากน้ำขึ้นปกติประมาณร้อยละ 20 เป็นเพราะโลกดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ในแนวตรงกัน จะรวมแรงดึงดูดให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นที่เรียกว่า ภาวะน้ำเกิด น้ำทะเลจะหนุนให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นอีกมาก ถ้าเป็นระยะเวลาที่ประจวบระหว่างน้ำป่าและน้ำจากภูเขาไหลลงสู่แม่น้ำ จะทำให้อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำลดลงมากหรืออาจจะหยุดไหล น้ำในแม่น้ำจึงไม่สามารถจะระบายลงสู่ทะเลได้ ถ้าระยะที่น้ำทะเลหนุนนี้เป็นระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำมีระดับสูงอยู่แล้ว ย่อมเกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมขังบริเวณบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำได้ แต่ไม่มีกระแสน้ำเชี่ยวเกิดขึ้นด้วย อันตรายจึงมีน้อยมาก เว้นแต่ระยะเวลาที่น้ำล้นตลิ่ง (river flood) จะเนิ่นนานออกไปอีกหลายวัน ความสูญเสียก็อาจเพิ่มขึ้น 6. แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือเมื่อเกิดภูเขาไฟบนบกและภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด เปลือกของผิวโลกบางส่วนจะได้รับความกระทบกระเทือนต่อเนื่องกัน บางส่วนของผิวโลกจะสูงขึ้น บางส่วนจะยุบลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด จะทำให้เกิดคลื่นใหญ่ในมหาสมุทรและเกิดน้ำท่วมตามเกาะและเมืองชายฝั่งทะเลได้ ปรากฎการณ์นี้มีบ่อยครั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่องชายทะเลในประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะฮาวาย ได้รับภัยอันตราย ดังเช่นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ .2503 ได้ถูกคลื่น กระแสน้ำพัดขึ้นฝั่งในอ่าวฮีโลทีที่แคบและตัน ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองฮีโล ผู้คนและบ้านเรือนจมน้ำ ทรัพย์สมบัติได้รับความเสียหายมาก ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า ซึนามิ (tsnami) เกิดจากแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม หรือภูเขาไฟระเบิดในพื้นที่ท้องมหาสมุทร จึงเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยความเร็วประมาณ 600-1000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าถล่มชายฝั่งทะเล คลื่นชนิดนี้เป็นภัยธรรมชาติที่เกืดขึ้นเป็นประจำในแถบเมืองชายฝั่งทะเลในประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกว่า ซึนามิ ลักษณะการเกิดเหมือนคลื่นพายุซัดฝั่ง

แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์การสั่นสะเทือนหรือเขย่าของพื้นผิวโลก สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติ โดยแผ่นดินไหวบางลักษณะสามารถเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การปรับสมดุลเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่กักเก็บในเขื่อน และแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (แนวระหว่างรอยต่อธรณีภาค) ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหักน่ะและเกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน พลังงานศักย์นี้อยู่ในรูปคลื่นไหวสะเทือน จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว (focus) มักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกต่างๆของผิวโลก เท่าที่เคยวัดได้ลึกสุดอยู่ในชั้นแมนเทิล
ส่วนจุดที่อยู่ในระดับสูงกว่า ณ ตำแหน่งผิวโลก เรียกว่า "จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว" (epicenter) การสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหวนี้จะถูกบันทึกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไซสโมกราฟ

อำเภอปาย

ประวัติศาสตร์
อำเภอปายเป็นเมืองเก่าแก่ ประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาแต่เดิมคือชาวพ่ายหรือไปร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก สาขาว้า-เรียง ดังมีร่องรอยหลักฐานซากวิหารและเจดีย์กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนภูเขาสูง ที่ดอนเชิงเขา บริเวณพื้นราบลุ่มน้ำปาย บางแห่งก่อสร้างด้วยหิน เช่น ในผืนป่าบริเวณใกล้น้ำตกเอิกเกอเต่อ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ปิงน้อย บางแห่งมีการขุดคูเป็นร่องลึกบนภูเขาสูงชัน มีเจดีย์บนยอดเขา
มีหลักฐานว่าเจ้าเมืองคนแรกคือ ขุนส่างปาย ในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ พระราชาธิบดีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งเจ้าแก้วเมืองออกสำรวจชายแดน ได้พบว่าภูมิประเทศน่าสนใจ จึงแนะนำให้ขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปายเพราะเป็นที่ราบกว้างขวาง ผู้คนจึงเรียกเมืองใหม่ว่า "เวียงใต้" ส่วนเมืองเก่าเรียกว่า "เวียงเหนือ"
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
เมืองปายเป็นเมืองที่มีคนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยประวัติศาสตร์บริเวณที่ตั้งเมืองปายเป็นเมืองสำคัญของล้านนาในสมัยราชวงศ์มังรายซึ่งมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ต่อมาเมืองปายได้ร้างไปพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ. 2318-2338 เมืองปายได้ฟื้นฟูเป็นหมู่บ้านและพัฒนาเป็นอำเภอปาย โดยมีผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ได้แก่ คนไทยวน (คนเมือง) ชาวไทใหญ่ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเมืองปายตั้งอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัจจุบันเมืองปายเป็นเมืองชุมทางที่สำคัญเมืองหนึ่งบนเส้นทางระหว่างเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อำเภอปายมีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีชุมชนโบราณที่ปรากฏชื่อในตำนานคัมภีร์ใบลานหลายเมือง และมีประวัติสืบต่อกันมานับร้อยปี ประกอบกับมีหลักฐานโบราณคดีปรากฏอยู่ในชุมชนโบราณดังกล่าวด้วย จากการศึกษาของพระครูปลัดกวีวัตน์ธนจรรย์ สุระมณี วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีรายงานการสำรวจว่าในเขตเมืองน้อย อำเภอปาย มีหลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังนี้
ถ้ำผีแมน บ้านห้วยหก ตำบลเวียงเหนือ อยู่ห่างจากบ้านห้วยหกไปทางทิศตะวันตกราว 1,500 เมตร พบซากกระดูกและระแทะคล้ายรางไม้ให้อาหารสัตว์หลงเหลืออยู่ บางส่วนถูกชาวบ้านเผาไปเกือบหมดแล้ว ถ้ำผีแมนซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นี้มีอยู่หลายแห่งในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น
ถ้ำป่าคาน้ำฮู ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
ถ้ำน้ำลอด อำเภอปางมะผ้า พบหลักฐานของใช้ของคนถ้ำในยุคนั้นคือ กำไลแขนทำด้วยโลหะ หม้อดินลายเชือกทาบ ขวานหินขุด ระแทะไม้ ฯลฯ
ถ้ำดอยปุ๊กตั้ง อยู่ทางทิศใต้ของบ้านห้วยเฮี้ย ตำบลเวียงเหนือ ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าจากหมู่บ้านประมาณ 1 ชั่วโมง พบเครื่องใช้ของมนุษย์ถ้ำมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบในถ้ำผีแมนแห่งอื่น ๆ
ชุมชนโบราณเมืองน้อย
ชุมชนโบราณเมืองน้อยเป็นชุมชนที่พบหลักฐานทางด้านโบราณคดี หลักฐานตำนาน และศิลาจารึกที่สะท้อนให้เห็นว่าเมืองน้อยเป็นเมืองสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ ตำแหน่งละติจูดที่ 19 องศา 30 ลิปดา 58 พิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 98 องศา 30 ลิปดา 50 พิลิปดาตะวันออก ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร จากอำเภอปายไปทางทิศเหนือ เมื่อสองร้อยปีเศษมานี้ เมืองน้อยมีสภาพเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันได้มีชนเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เข้าไปจับจองอาศัยตั้งบ้านเรือนที่บ้านเมืองน้อย โดยมีชื่อใหม่หลายหมู่บ้าน คือ บ้านหัวฝาย บ้านห้วยงู บ้ายห้วยเฮี้ย บ้านห้วยหก บ้านกิ่วหน่อ และบ้านมะเขือ
เมืองน้อย: ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวเมืองน้อยว่า ในรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช (พระญาติโลกราชะ) ปกครองเชียงใหม่ พ.ศ. 1984-2030 พระองค์มีโอรสชื่อท้าวบุญเรืองหรือศรีบุญเรืองครองเมืองเชียงราย ต่อมาถูกแม่ท้าวหอมุกกล่าวโทษ จึงให้ท้าวบุญเรืองไปครองน้อย ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย[1] เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้ว โอรสของท้าวบุญเรือง ชื่อพญายอดเชียงราย (พระญายอดเชียงราย) ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ปกครองได้ไม่นานถูกกล่าวหาว่า พระองค์ราชาภิเษกวันจันทร์ ถือว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ไม่ประพฤติอยู่ในขนบธรรมเนียมของท้าวพระญา ไม่ประพฤติอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังมีใจฝักใฝ่ไมตรีกับฮ่อ เสนาอำมาตย์จึงได้ล้มราชบัลลังก์และได้อัญเชิญให้ไปครองเมืองน้อย ในปี พ.ศ. 2038 พญายอดเชียงรายประทับอยู่เมืองน้อยได้ 10 ปี ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2048 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา พญาเมืองแก้ว (กษัตริย์เมืองเชียงใหม่และราชโอรสของพญายอดเชียงราย) ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระศพของพญายอดเชียงรายที่เมืองน้อย และสร้างอุโบสถครอบ[2]
ครั้นพญาเมืองแก้วเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2068 เสนาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระอนุชาจากเมืองน้อยให้มาครองราชย์เชียงใหม่และราชาภิเษกเป็นพระเมืองเกษเกล้า (พระญาเมืองเกส) ในปี พ.ศ. 2069 พระองค์ครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2081 (พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์เมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068-2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088) เสนาอำมาตย์ไม่ชอบใจได้ปลดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ และอัญเชิญท้าวซายคำราชโอรสให้ครองราชย์แทนในปี พ.ศ. 2081 ท้าวซายคำประพฤติตนไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม เสนาอำมาตย์ได้ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2086 และได้อัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าจากเมืองน้อยมาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2[3]
บ้านเมืองน้อยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดเจดีย์หลวง" ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีแนวกำแพงกำหนดเขตพุทธาวาสขนาด 80 x 100 x 1 เมตร ขนาดชุกชีวิหาร ฐานชุกชีอุโบสถขนาด 4 x 8.50 เมตร (สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพญายอดเชียงราย) ซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออก เจดีย์ขนาด 11 x 11 x 17 เป็นเจดีย์แบบเชิงช้อนย่อเหลี่ยม บางส่วนยังมีลวดลายการก่ออิฐทำมุม เจดีย์ถูกสร้างขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เจดีย์ถูกขุดค้นหาสมบัติลักษณะแบบผ่าอกไก่จากยอดถึงฐานต่ำสุด มีหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ทำให้มองเห็นฐานรากของการก่อสร้างเจดีย์ที่ใช้ก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่วางซ้อนกันเป็นฐานราก ก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างมีขนาด 6 x 11 นิ้ว และในบริเวณวัดเจดีย์หลวงยังพบจารึกบนแผ่นอิฐ 2 ชิ้น
จารึกหลักแรกพบในบริเวณด้านเหนือของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยวน จำนวน 3 บรรทัด บรรทัดที่ 2-3 จารึกกลับหัว จากบรรทัดที่ 1 ความว่า "(1) เชแผง (2) เนอ เหย เหย (3) ฅนบ่หลายแล แล แล" ความในจารึกชิ้นนี้กล่าวถึงนายเชแผง ผู้เป็นหนึ่งในผู้ปั้นอิฐในการก่อสร้างศาสนสถานแห่งนี้ รำลึกถึงคนจำนวนไม่มากนักในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้หรือในเมืองนี้
จารึกหลักที่สองพบก่อร่วมกับอิฐก้อนอื่น ๆ ในบริเวณแนวกำแพงด้านใต้ของโบราณสถาน จารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน จำนวน 1 บรรทัด ส่วนครึ่งแรกหายไป ส่วนครึ่งหลังอ่านได้ใจความว่า "สิบกา (บ)" จารึกชิ้นนี้บอกผู้ปั้นว่าสิบกาบ คำว่า "สิบ" อาจหมายถึงตำแหน่งขุนนางล้านนาสมัยโบราณ เรียกว่า "นายสิบ" หรือเนื่องจากอิฐส่วนหน้าที่หักหายไปบริเวณกี่งกลางของก้อนอิฐนั้น คำว่า "สิบกา(บ)" อาจสันนิษฐานได้ว่า ข้อความเต็มด้านหน้าที่หายไปเป็น "(ห้า) สิบกาบ" หรือขุนนางระดับนายห้าสิบก็อาจเป็นได้[4]
วิวรรณ์ แสงจันทร์ กล่าวว่า จากหลักฐานโบราณคดี ซากวัดร้างต่าง ๆ จำนวน 30 แห่งในเมืองน้อย รวมทั้งวัดเจดีย์หลวงและข้อความที่พบสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนที่นี่เป็นเมืองใหญ่ในอดีตมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่จำนวนมากได้
ชุมชนโบราณบ้านเวียงเหนือ
นอกจากเมืองน้อยแล้ว เมืองปายยังพบชุมชนโบราณที่บ้านเวียงเหนือ ตำบลเวียงเหนือ ตั้งอยู่ในตำแหน่งละติจูด 19 องศา 22 ลิปดา 34 พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 27 ลิปดา 17 พิลิปดาตะวันออก
เมืองปายมีหลักฐานตำนานกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ในสมัยพญาแสนภู (พระญาแสนพู) กษัตริย์เชียงใหม่ (พ.ศ. 1868-1877) สร้างเมืองเชียงแสน พ.ศ. 1871 ได้กำหนดให้เมืองปายเป็นเมืองขึ้นของพันนาทับป้องของเมืองเชียงแสนในสมัยนั้น (พงศาวดารโยนก หน้าตำนานเชียงแสนว่า เมืองจวาดน้อย/จวาดน้อย/สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับคำว่าชวาดน้อย)
วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2028 ปีมะเส็ง สัปตศก (วันศุกร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ จุลศักราช 847 ปีดับใส้) เจ้าเถรสีลสังยมะให้หล่อพระพุทธรูปเวลารับประทานอาหารเช้า (ยามงาย)[5]
พ.ศ. 2032 มหาเทวี (พระมารดาพญายอดเชียงราย) พระราชทานที่ถวายพระมหาสามีสัทธัมมราชรัตนะ ก่อสร้างมหาเจดีย์ มหาวิหาร ผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดศรีเกิด (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกวัดหนองบัว (ร้าง) บ้านแม่ฮี้ ตำบลแม่ฮี้) พ.ศ. 2033 มีการถวายข้าทาสอุปัฏฐากพระมหาสามีสัทธัมมราชรัตนะ อุโบสถ มหาวิหาร มหาเจดีย์ พระพุทธรูป ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำข้าทาสเหล่านี้ไปทำงานอื่นหากยังเคารพนับถือพญายอดเชียงรายอยู่ หากฝ่าฝืนขอให้ตกนรกอเวจี[6]
พ.ศ. 2044 ปีระกา ตรีศก เจ้าหมื่นพายสรีธัม(ม์)จินดา หล่อพระพุทธรูปหนักสี่หมื่นห้าพันทอง เดือนเจ็ด ไว้ในอุโบสถวัดดอนมูน เมืองพายแล (เมืองพาย/อำเภอปาย) (ปัจจุบันพระพุทธรูปนี้เก็บรักษาไว้ ณ วัดหมอแปง ตำบลแม่นาเติง ดร.ฮันส์ เพนธ์ คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านฐานพระพุทธรูปวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ความว่า "ในปีร้วงเร้า สักราชได้ ๘๖๓ ตัว เจ้าหมื่นพายสรีธัมจินดา ส้างรูปพระพุทธะเป็นเจ้าตนนี้ สี่หมื่นห้าพันทอง ในเดือนเจ็ด ไว้ในอุโบสถวัดดอนมูน เมืองพายแล" (ดร.ฮันส์ เพนธ์กล่าวว่า "หมื่น" เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองพาย ตำแหน่งใหญ่เทียบเท่าเมืองเชียงแสน เมืองลำปาง และ 1 ทอง เท่ากับ 1.1 กรัม)
พ.ศ. 2124 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พญาลำพูนมาครองเมืองปาย (พลาย)[7]
พ.ศ. 2283 ปรากฏชื่อวัดป่าบุก ตั้งอยู่ทิศใต้ของเมืองปาย (พลาย) ช้างตัวผู้ ดังความว่า "วัดป่าบุก ใต้เมืองพายช้างพู้" (คัมภีร์ ธัมมปาทะ (ธรรมบท) ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดดวงดี อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2330 เมืองปายรวมตัวกับเมืองพะเยา เมืองเชียงราย เมืองฝาง เมืองปุ และเมืองสาดขับไล่พม่า แต่เมืองพะเยาทำการไม่สำเร็จ[8]
พ.ศ. 2412 ขณะที่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2399-2413) ลงไปถวายบังคมกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครว่า ฟ้าโกหล่านเมืองหมอกใหม่ ยกกองทัพมาตีเมืองปายซึ่งสมัยนั้นมีฐานะเมืองขึ้นของเชียงใหม่ เจ้าราชภาคีไนย นายบุญทวงศ์ นายน้อยมหาอินท์รักษาการเมืองเชียงใหม่ ทำหนังสือถึงเจ้าเมืองลำปางและเมืองลำพูนให้มาช่วยเมืองปาย หลังจากนั้นเจ้านายและกองทัพจากสามเมือง ยกกำลังมาช่วยเมืองเชียงใหม่รบกับกองทัพของฟ้าโกหล่าน โดยมีนายบุญทวงศ์ นายน้อยมหาอินท์คุมกำลัง 1,000 คนจากเมืองลำปาง มีนายน้อยพิมพิสาร นายหนายไชยวงศ์คุมกำลัง 1,000 คนจากเมืองลำพูน มีนายอินทวิไชย นายน้อยมหายศคุมกำลัง 500 คน แต่ไม่สามารถป้องกันเมืองปายได้ กองทัพฟ้าโกหล่านจุดไฟเผาบ้านเรือนในเมืองปาย กวาดต้อนผู้คนและครอบครัวไปอยู่เมืองหมอกใหม่ กองทัพทั้งสามเมืองจึงได้ติดตามไปถึงฝั่งแม่น้ำสาละวิน แต่ตามไม่ทันจึงได้เดินทางกลับ
พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ตั้งแต่เมืองปายถูกฟ้าโกหล่านตีแตก จุดไฟเผาบ้านเมือง กวาดต้อนผู้คนไปเมืองหมอกใหม่แล้ว เมืองปายมีสภาพเป็นร้างบางส่วน ไม่มีผู้รักษาเมือง ทั้งยังถูกกองทัพเงี้ยวและลื้อกวาดต้อนครอบครัวไปอยู่เป็นประจำ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาชัยสงคราม (หนานธนันไชย บุตรราชวงศ์มหายศ) เป็นพระยาเกษตรรัตนอาณาจักรไปปกครองเมืองปาย ให้ยกเอาคนจากเมืองเชียงใหม่ไปตั้งเมืองปาย ให้เป็นภูมิลำเนาบ้านเรือนเหมือนเดิม เพื่อจะได้ป้องกันรักษาด่านเมืองเชียงใหม่[9]
พ.ศ. 2438 พระยาดำรงราชสิมา ผู้ว่าราชการเมืองปาย ถูกพวกแสนธานินทร์พิทักษ เจ้าเมืองแหงปล้น แล้วแสนธานินทร์พิทักษประกาศเกลี้ยกล่อมคนเมืองปั่น เมืองนาย เมืองเชียงตอง และเมืองพุมารบเมืองปาย โดยจะเก็บริบเอาทรัพย์สิ่งของให้หมด พระยาทรงสุรเดชพร้อมด้วยเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ประชุมเจ้านายหกตำแหน่งมอบหมายให้เจ้าอุตรโกศลออกไปปราบปราม[10]
วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ส่างนันติ คนในบังคับอังกฤษ ใช้ดาบฟันส่างสุนันตาและเนอ่อง คนในบังคับสยามตาย ณ ตำบลกิ่วคอหมา แขวงเมืองปาย และนำทรัพย์สินไปมูลค่าประมาณ 1,000 บาท ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ได้ตัดสินประหารชีวิต (คำพิพากษาที่ 25/125 ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ วันที่ 24 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 125 อ้างในศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2535/คำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาในสมัยที่สยาม (ไทย) ตกอยู่ภายใต้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตามสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398) และจำเลยได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กรุงเทพ ได้ยกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย และให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาศาลล่าง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 20 ปี ค.ศ. 1906 อ้างในศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2536)
พ.ศ. 2454 กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกการปกครองเมือง เปลี่ยนฐานะเมืองปายเป็น อำเภอปาย และได้แต่งตั้งหลวงเจริญเขตเขลางค์นคร (สอน สุขุมมินทร์) เป็นนายอำเภอคนแรกระหว่างปี พ.ศ. 2454-2468[11]
[แก้] สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
น้ำตกหมอแปง
วัดกลาง
วัดพระธาตุศรีวิชัย
วัดน้ำฮู
หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง
เจดีย์พระธาตุแม่เย็น
โป่งน้ำร้อนท่าปาย
น้ำตกแม่เย็น
กองแลน
น้ำพุร้อนเมืองแปง
ห้วยจอกหลวง
ถนนคนเดิน ปาย
สะพานข้ามแม่น้ำปาย

ผาแต้ม


อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย เช่น ผาชัน น้ำตกสร้อยสวรรค์ เสาเฉลียง ถ้ำปาฏิหารย์ ภูนาทาม เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกในประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทย และประเทศลาวเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุด ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ป่าเขา ทางฝั่งประเทศลาวได้เป็นอย่างดี
ประวัติความเป็นมา

ในอดีต ชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป อาจเจ็บไข้หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ” พื้นที่ป่าภูผาบริเวณผาแต้มได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มาทำการสำรวจและค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2524 เสนอต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกองอุทยานแห่งชาติได้ให้ นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดงหินกอง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ) ไปทำการสำรวจหา ข้อมูลเพิ่มเติม ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณที่ขอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าภูผา ปรากฏภาพเขียนสีโบราณซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม สภาพป่าบริเวณใกล้เคียงยังไม่ถูกทำลาย และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามการคมนาคมสะดวก เหมาะที่จะตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเห็นสมควรผนวก บริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดงหินกอง กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1162/2524 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2524 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ (ดงหินกอง)ไปดำเนินการควบคุมดูแลรักษาป่าภูผา โดยให้พิจารณาผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โดยได้ประกาศรวมกับบริเวณป่าใกล้เคียงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 153 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 ต่อมา กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วนและอยู่ห่างไกลกับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตลอดจนมีอาณาเขตกว้างขวางเกรงว่า อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จะดูแลไม่ทั่วถึง และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตามโครงการอีสานเขียว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 991/2532 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2532 ให้นายวรพล รันตสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดง ภูโหล่น ท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 90-92 เล่ม 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2534 มีเนื้อที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย